ก่อนหน้าก่อนหน้าปี 2562 ใครก็ตามที่ตัดไม้ หรือทำไม้ ที่เป็น "ไม้หวงห้าม" ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทุกกรณี ไม่ว่า จะเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินตัวเอง หรือปลูกขึ้นเองก็ตาม
ใครที่ตัดไม้หวงห้ามโดยไม่ขออนุญาตก่อน พ.ร.บ.ป่าไม้ กำหนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท (อ้างอิง)
กฎหมายนี้เขียนขึ้นในยุคสมัยที่ต้องการสงวนคุ้มครองต้นไม้ และป่าไม้อย่างเด็ดขาด แต่ก็ส่งผลกระทบ เมื่อคนไม่สามารถตัดไม้ หรือเอาประโยชน์จากต้นไม้ได้ ก็ทำให้คนเลือกที่จะไม่ปลูกต้นไม้นั้นไว้ในที่ดินของตัวเอง เพราะหากวันหลังเปลี่ยนใจต้องการตัดออก หรือตัดขายก็อาจมีความผิดได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ แทนที่ไม้หวงห้ามจะถูกคุ้มครองแต่กลับเป็นไม่มีใครกล้าปลูกเพิ่ม
พ.ร.บ.ป่าไม้ จึงถูกแก้ไขอีกครั้ง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2562 (อ้างอิง)
ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ต้นไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ไม่ถือเป็น "ไม้หวงห้าม" ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ ดังนั้น ผู้ถือสิทธิในที่ดิน สามารถตัดไม้ หรือเอาประโยชน์จากต้นไม้เหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน และไม่มีความผิดอีกต่อไป แต่หากเป็นไม้หวงห้ามที่เกิดและเติบโต้ในพื้นที่ป่า ก็ยังคงได้รับความคุ้มครอง ใครตัดหรือทำลายมีโทษตามกฎหมายอยู่เช่นเดิม
หลังจากกฎหมายได้ "ปลดล็อก" การทำไม้หวงห้ามให้ทำได้โดยอิสระมากขึ้นแล้ว ก็หวังว่า คนจะนิยมและช่วยกันปลูกต้นไม้เหล่านี้เพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อหวังได้รับประโยชน์จากการขายไม้ในอนาคต เพื่อช่วยกันรักษาและขยายพันธุ์ไม้และความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
"ไม้หวงห้าม" ตามพระราชกฤษฎีกากําหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 http://forestinfo.forest.go.th/Content/file/forest2530.pdf ตัวอย่างเช่น กระเจา กระท้อน กระบาก กันเกรา โกงกาง ราชพฤกษ์ ตะเคียน พะยูง แดง ตะแบก ตีนเป็ด เต็ง รัง นนทรี ประดู่ พะยอม พิกุล มะค่า สนเขา สะเดา อบเชย ฯลฯ
Comments