เมื่อเมล็ดไม้งอกขึ้นมาแล้ว เราควรจะต้องย้ายชำกล้าไม้ลงถุงเพาะชำ เพื่อให้กล้าแข็งแรงพร้อมนำไปปลูก โดยการเพาะกล้าที่ดีจะต้องให้กล้าไม้เสมือนได้งอกเอง เราจึงแบ่งระยะการย้ายชำให้ใกล้เคียงการงอกตามธรรมชาติมากที่สุด กล่าวคือเมื่อเราย้ายชำ ต้นกล้าจะไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน หรือชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งจะส่งผลให้ต้นกล้าแข็งแรงนั้นเอง
ผมจึงแบ่งระยะการย้ายชำกล้าไม้ ออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเมล็ด คือการที่ไม่ต้องเพาะก่อน แต่ให้นำเมล็ดที่ แข็งแรง มีอัตราการงอกสูง จิ้มลงถุงชำได้เลย ระยะนี้ต้นกล้าจะเหมือนงอกเองตามธรรมชาติ แต่จะมีข้อเสียคือ เราไม่รู้ว่าเมล็ดไหนจะงอก เมล็ดที่ใช้วิธีนี้ส่วนมากจะมีเมล็ดใหญ่ ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการงอกต้องเกิน 95 % ได้แก่ มะค่าโมง มะค่าแต้ สวาด มะหาด ขนุนป่า หลุมพอ ทุเรียน ฝาง ลำใย มะคำดีควาย ทองหลางป่า เป็นต้น
2. ระยะรากงอก ใช่กับเมล็ดขนาดใหญ่ ที่คนเพาะสามารถหยิบจับได้ง่าย ปกติจะประมาณ 0.4 เซนติเมตรขึ้นไป ระยะนี้ก็จะเสมือนงอกและหยั่งรากลงดินตามธรรมชาติ ต้นกล้าจะไม่ได้รับการรบกวนเลย แต่จะมีข้อเสียคือ หากไม่ทราบระยะเวลาในการงอก และเพาะจำนวนมาก อาจจะไม่ทำงานไม่ทัน ที่ผมใช้ประจำคือ การเพาะยางนา ในกระสอบ
3.ระยะถั่วงอก เป็นระยะที่นิยมที่สุด ระยะนี้ต้นกล้าถึงจะมีการกระทบกระเทือนแต่ก็แทบจะดูไม่ออกเลยว่า ต้นกล้าหยดการเจริญเติบโต ขนาดเมล็ดใช้ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นพวกเมล็ดเป็นผงฝุ่น หรือเล็กๆ จึงให้ใช้ระยะต่อไป ระยะนี้ใช้กันมาก 95 %ในการเพาะฃำกล้าไม้ ใช้ระยะนี้ ได้แก่ คูณ มะค่าโมง มะค่าแต้ สะเดา พยูง เป็นต้น
4. ระยะเบี้ย ปกติแล้วในการย้ายชำกล้าเราจะพยายามไม่ให้เมล็ดที่งอก มีใบจริง เพราะเมื่อเราถอด จะเกิดการคายน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นกล้าช็อค อาจจะตายหรือชะงักได้ แต่ในกลุ่มพวกที่มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นผงฝุ่น เราไม่สามารถใช้ระยะทั้ง 3ข้างต้นไม้ เพราะต้นกล้าที่งอกใหม่ๆมีขนาดเล็กตามขนาดของเมล็ด เราจึงต้องรอให้มีใบจริงเสียก่อน ซึ่งผมเรียกว่า ระยะเบี้ย ฟังแบบนี้จะเข้าใจว่า ระยะนี้ต้นกล้าจะได้รับการกระทบกระเทือน แต่ธรรมชาติก็เก่งพอ พวกที่มีเมล็ดเล็ก จะสร้างรากฝอยออกมาเยอะแยะ เพื่อให้ช่วยกันดูดน้ำให้เร็ว และยังสร้างก้านใบและลำต้นที่อวบน้ำ ทำให้ระยะเบี้ยก็ยังไม่มีผลเสียใดๆ ได้แก่ กันเกรา ไทรต่างๆ อุโลก ขว้าว กระทุ่มบก กระทุ่มโคก เป็นต้น
หากเราสามารถแบ่งการย้ายชำ ตามความเหมาะสมของต้นกล้าแล้ว ต้นกล้าของเราก็จะเสมือน หยังลงดินตามธรรรมชาติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเพาะกล้าคุณภาพ ครับ
ถุงเพาะชำสำหรับทำกล้าคุณภาพ
ขนาดของถุงชำมีผลต่อคุณภาพของกล้าไม้ ถุงเพาะชำที่ใช้ควรจะสัมพันธ์กับ ระยะเวลาเพาะถึงวันที่กล้าไม้พร้อมจะปลูก ผมขอแนะนำขนาดและเทคนิคที่ผมใช้อยู่นะครับ
ขนาด 2.*6 นิ้ว ใช้สำหรับ ชนิดไม้ที่ใช้เวลาในเพาะ 4-6 เดือนก็ปลูกได้ ส่วนมากจะเป็นชนิดที่โตเร็ว ขนาดของถุงจะไม่ทำให้รากขดแบบถาวร พันธุ์ไม้ที่เหมาะกับถุงขนาดนี้ได้แก่ ยางนา กระบาก สมอภิเภก สำโรง งิ้วป่า สะตือ หลุมพอ เหรียง เป็นต้น
ขนาด 2 * 6 นิ้ว ในระยะแรก แล้วเปลี่ยนเป็นขนาด 4*9 นิ้วขึ้นไป เพื่อง่ายในการขนส่งและอัตราการโตที่ดีขึ้น และสามารถข้ามไปปลูกได้ในฤดูต่อไป ผมมักใช้วิธีนี้ และจะทำการเปลี่ยนถุงประมาณเดือนกันยายน เพื่อใช้ปลูกไปปีถัดไป
ขนาด 4*9 นิ้ว ขึ้นไป ใช้ได้กับทุกชนิด เพื่อให่ระบบรากสมบูรณ์ดี และโตไวกว่า ขนาด 2*6 นิ้ว แต่จะสิ้นเปลืองและกินพื้นที่
ดังนั้น เราจึงควรปรับตามความเหมาะสม ตามชนิดและศักยภาพของเราเอง โดยเน้นการเจริญเติบโตและระบบรากของต้นกล้า เป็นสำคัญ
ที่มา : อ.นพพร นนทภา
Comments